เมื่อท่านได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้างาน ท่านอาจจะรู้สึกกังวลกับลูกน้องที่มีหลากหลายประเภท ท่านไม่รู้ว่าจะจูงใจลูกน้องอย่างไรดี เพราะหลากหลายความต้องการและพื้นฐานของแต่ละคนก็แตกต่างกัน เครื่องมือบางอย่างก็ไม่ช่วยยกระดับคุณภาพของผลการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น มีไว้เพื่อป้องกันความไม่พอใจหรือความพอใจเท่านั้น เช่น สภาพแวดล้อมในการทำงาน กฏระเบียบของบริษัท ค่าจ้าง สวัสดิการ แต่ก็มีเครื่องมือบางอย่างเมื่อนำมาใช้สามารถยกระดับคุณภาพของผลการปฏิบัติงานให้ดียิ่งได้ เช่น การชื่นชม การยอมรับในความสำเร็จของพนักงาน การมอบหมายอำนาจหน้าที่ การให้งานที่ท้าท้าย การให้งานที่น่าสนใจทำ การให้การเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน เหล่านี้สามารถทำให้ผลการปฏิบัติงานของพนักงานดีขึ้นได้
ดังนั้นแล้วหัวหน้างานที่ดีต้องคอยสังเกตุ คอยสอบถาม ต้องยอมรับว่าลูกน้องแต่ละคนแตกต่างกัน ลูกน้องแต่ละคนก็ต้องการการชี้แนะที่แตกต่างกัน ทั้งในสถานการณ์ที่แตกต่างกันด้วย
ลูกน้องมีด้วยกันหลายประเภทหลายแบบ หากเราทำกราฟโดยให้แกน X แสดงถึงความตั้งใจในการทำงาน จากน้อยไปหามาก และแกน Y แสดงถึงความสามารถในการทำงาน จากน้อยไปหามากเช่นกัน เราแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ตาราง
ตารางที่ 1 ลูกน้องที่มีความตั้งใจสูงแต่ความสามารถต่ำ พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นพนักงานใหม่ เด็กจบมาใหม่ มีความตั้งใจสูง ไฟแรง แต่ยังขาดความสามารถ ขาดประสบการณ์ในการทำงาน หัวหน้าต้องให้คำชี้แนะแบบตรงๆ สอนงานแบบตรงๆ บอกตรงๆ หรือทำให้ดูเป็นตัวอย่างเลยว่าวิธีการทำงานที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เราเรียกวิธีการนี้ว่า Directing
ตารางที่ 2 ลูกน้องประเภทความตั้งใจในการต่ำและความสามารถก็ต่ำด้วย หัวหน้าต้องเหนื่อยเป็นพิเศษหน่อย ต้องให้เวลากับลูกน้องกลุ่มนี้ ต้องหาสาเหตุที่ทำให้ขาดความตั้งใจในการทำงาน แน่นอนก็ต้องสอนงานกันแบบเข้มข้นเช่นกัน ต้องคอยพูด คอยคุย และเพิ่มความใกล้ชิดเป็นพิเศษ เรียกว่าทั้งสอนงานและเพิ่มกำลังใจกัน เราเรียกวิธีนี้ว่า coaching
ตารางที่ 3 เป็นลูกน้องประเภทความตั้งใจในการทำงานต่ำแต่มีความสามารถสูง เวลาใช้ให้ทำอะไร งานมักจะสำเร็จ เพราะเค้าเป็นคนเก่ง แต่ลูกน้องกลุ่มนี้ขาดกำลังใจ หมดหวัง เก็บตัวเงียบ สาเหตุอาจเป็นเพราะได้งานที่ตัวเองไม่ชอบ หรือไปอยู่ในหน่วยงานที่ไม่เปิดโอกาสได้แสดงความรู้ความสามารถ หัวหน้างานต้องเรียกคุยและเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความสามารถ ให้เขาเป็นที่สนอกสนใจ ให้เกียรติเขาเสมอ เรียกเข้าหรือดึงให้มามีส่วนร่วมกับทีม เช่น ไปชวนพี่เค้าสิ ลองถามพี่เค้าสิว่าคิดอย่างไร ต้องพยายามดึงเค้าให้มามีส่วนร่วมให้ได้ หรือย้ายไปทำงานอื่นที่เขาสนใจและเป็นประโยชน์กับองค์กร ต้องหาจุดแข็งและใช้เขาในจุดแข็งของเขา มากกว่าไปดูแต่จุดอ่อนของเขา ต้องทำให้เขาเป็น somebody ไม่ใช่เป็น nobody ของหน่วยงาน วิธีการนี้เรียกว่า Supporting
ตารางที่ 4 ลูกน้องประเภทมีความตั้งใจสูงและมีความสามารถสูง พวกนี้เป็น high flyer หรือเป็น talent ขององค์กร บางองค์กรก็เรียกว่าพวกศักยภาพสูง หัวหน้าก็ต้องปรับการดูแลคนกลุ่มนี้พิเศษเช่นกัน ต้องมอบหมายงานที่ท้าท้าย และต้อง empowerment หรือมอบอำนาจการตัดสินใจให้เค้าได้รับผิดชอบงานด้วย และก็ต้องดูแลเรื่องการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ตลอดจนการพัฒนาฝึกอบรมให้เค้าเก่งยิ่งขึ้นด้วย วิธีการนี้เราเรียกว่า empowment หรือ Delegation
สุดท้ายแล้ว หัวหน้าก็ต้องทำตัวเองให้เป็น Role Model หรือทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรด้วยเช่นกัน